หลักการเขียนเรียงความ
ชำแระวิธีการเขียนเรียงความให้โดนใจได้รางวัล

สำหรับนักอยากเขียนทั้งหลาย เวทีประกวดเขียนเรียงความมากมาย นอกจากจะเป็นสนามประลอง ฝึกฝีมืออย่างดีแล้ว เผลอๆ ถ้าชนะได้เงินรางวัลเป็นค่าขนมค่าน้ำหมึก ชื่อขึ้นเข้าชั้นทำเนียบนักเขียนหน้าใหม่ไฟแรงละก้อ โอกาสแจ้งเกิดก็อยู่ไม่ไกล ปัญหาแรกที่มักเจอกับนักอยากเขียนหน้าใหม่ๆ คือ การเริ่มต้น ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และเมื่อเริ่มต้นไม่ได้ ความหวังที่จะเขียนเนื้อเรื่องต่อไปได้ ก็แสนจะริบหรี่ แต่อย่าท้อ ขอให้เริ่ม! จรดปากกาลงไป แล้วเขียนอะไรสักประโยค หรือหลายๆ ประโยคก็ได้ อาจไม่ใช่ทุกประโยคที่เริ่มเขียนจะใช้ได้ แต่อาจมีบางคำ บางประโยค หรือบางประเด็นความคิดที่น่าสนใจ แล้วนำมาพัฒนาต่อเป็นเนื้อเรื่องได้ เราคงเคยเห็นทั้งคำว่าเรียงความ และบทความ งานเขียนทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร เริ่มทำความเข้าใจกันเลย
แยกแยะความต่าง เรียงความกับบทความ
1. จุดมุ่งหมาย
เรียงความ : เป็นการเขียนขึ้นเพื่อแสดงความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว
บทความ : เป็นการเขียนขึ้นเพื่อเสนอความคิดเห็นเป็นสำคัญ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไปในขณะนั้น
2. ภาษาและวิธีเขียน
เรียงความ :
๐ มีการแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป
๐ ภาษาที่ใช้เน้นความถูกต้อง เคร่งครัดตามหลักเกณฑ์การใช้ภาษา มีท่วงทำนองการเขียนแบบเรียบๆ ไม่โลดโผน
การดำเนินเรื่องตรงไปตรงมาตามลำดับขั้นตอน
๐ เป็นงานเขียนสั้นๆ มีไม่กี่ย่อหน้า
บทความ :
๐ มีการแบ่งเป็น 3 ส่วนเช่นกันคือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป
๐ ภาษาที่ใช้ขึ้นอยู่กับประเภทของบทความ ไม่เคร่งครัดในหลักเกณฑ์การใช้ภาษา อาจใช้ภาษาไม่เป็นทางการหรือกึ่งทางการ
มีการใช้ภาษาร่วมสมัย สำนวนโวหารเร้าใจให้น่าติดตามอ่าน
๐ มีความยาวหลายย่อหน้า หรือหลายหน้า
3. เนื้อเรื่อง
เรียงความ :
๐ เขียนขึ้นจากจินตนาการ ความรู้ความเข้าใจ และความคิดส่วนตัวเป็นสำคัญ อาจไม่มีข้อมูลจริงมาอ้างอิง
๐ เนื้อเรื่องจบสมบูรณ์ในตอนเดียว จะหยิบยกเอาเรื่องที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมมาเขียนก็ได้
๐ หัวข้อเรื่องเดียวกันของเรียงความ จะยกขึ้นมาเขียนเมื่อไรก็ได้ ไม่ถือว่าล้าสมัย
บทความ :
๐ เนื้อเรื่องจะประกอบด้วยข้อมูลจริงและความคิดเห็นหรือการวิจารณ์ข้อมูลของผู้เขียน
ข้อมูลที่นำมาเขียนจะต้องสามารถระบุแหล่งที่มาของข้อมูลได้
๐ เนื้อเรื่องไม่จำเป็นต้องจบสมบูรณ์ อาจเสนอเพียงประเด็น แล้วทิ้งท้ายให้ผู้อ่านคิดสรุปเอง
๐ เนื้อเรื่องของบทความต้องทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ อยู่ในความสนใจของผู้อ่านในขณะนั้น
เวลาผ่านไปแม้เพียงหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่า ก็อาจล้าสมัยไปแล้ว
4. แหล่งข้อมูล
เรียงความ : ไม่มีแหล่งที่มาของข้อมูล หรือมีแหล่งข้อมูลน้อย
บทความ : มีการเขียนอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลชัดเจน อาจเขียนในลักษณะของเชิงอรรถ รายการอ้างอิง หรือบรรณานุกรม
3 หัวใจสำคัญของเรียงความ เขียนให้ดี ปั้นให้โดน
1. คำนำ หรือบทนำ
เป็นส่วนเปิดเรื่อง เกริ่นนำให้รู้ว่าจะได้อ่านเรื่องอะไรต่อไป ควรมีสัดส่วนเนื้อหาประมาณ 5-10% ของเนื้อหาทั้งหมด
ลักษณะของคำนำหรือบทนำที่ดีคือ
๐ เร้าใจคนอ่าน ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอ่าน ไม่เขียนเรียบง่าย ขาดชีวิตชีวา
๐ เนื้อหาสอดคล้องและตรงกับเนื้อเรื่อง
๐ เร้าใจคนอ่าน ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอ่าน ไม่เขียนเรียบง่าย ขาดชีวิตชีวา
๐ เนื้อหาสอดคล้องและตรงกับเนื้อเรื่อง
๐ เปิดประเด็นเข้าเรื่อง ไม่วกวน ยืดยาวเกินไป
๐ ใช้ภาษาประณีต สละสลวย ชวนอ่าน
ตัวอย่างแนวทางการเขียนคำนำ
๐ เริ่มเรื่องอย่างตรงไปตรงมา กล่าวถึงสาระสำคัญของเรื่องทันที ไม่พรรณานาโวหาร
๐ พูดถึงความเป็นมาของเรื่องที่จะเขียนอย่างย่อๆ ก่อนนำเข้าสู่เนื้อเรื่อง
๐ เริ่มด้วยคำจำกัดความ หรือความหมายของคำ ที่เป็นกุญแจสำคัญไขเข้าสู่เรื่องราว
๐ เริ่มด้วยข้อความที่กระตุ้นความสนใจผู้อ่าน ให้รู้สึกอยากอ่านเรื่องต่อไป
๐ นำข่าวที่กำลังเป็นที่สนใจ หรือปัญหาเร่งด่วนของสังคมมากล่าว
๐ ขึ้นต้นด้วยคำถามหรือข้อความชวนให้คิด
๐ ยกคำพูด คำคม บทเพลง หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ
2. เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องคือส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญของเรียงความชิ้นนั้น จะมีสัดส่วนประมาณ 80-90% ของเนื้อหาทั้งหมด
เนื้อเรื่องจะเขียนกี่ย่อหน้าก็ได้ไม่จำกัด ในแต่ละย่อหน้าจะต้องต่อเนื่อง มีความสัมพันธ์กัน เนื้อหาต้องไม่สับสนวกวน
ลักษณะเนื้อเรื่องที่ดีต้อง
๐ เขียนตามโครงเรื่องที่วางไว้
๐ ลำดับใจความทีละตอน
๐ ขึ้นย่อหน้าใหม่เมื่อจบใจความแต่ละตอน
๐ เนื้อความในแต่ละย่อหน้าต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน
๐ เนื้อเรื่องต้องมีสาระ ข้อเท็จจริง ให้รายละเอียดชัดเจน
3. บทสรุป
เป็นส่วนปิดเรื่องให้เกิดความประทับใจ คล้อยตามเนื้อหาเรื่องที่เขียนมาทั้งหมด ส่วนมากมีเพียงย่อหน้าเดียว
สัดส่วนประมาณเดียวกับคำนำ คือ 5-10%
บทสรุปที่ดีต้องกระชับ ได้ใจความ ไม่ออกนอกประเด็น หรือเปิดประเด็นใหม่
ตัวอย่างแนวทางการเขียนบทสรุป
๐ ให้คำตอบ
๐ ฝากข้อคิดให้ประทับใจ
๐ ย้ำแนวคิดสำคัญของเรื่อง
๐ ให้ผู้อ่านทำตามหรือเกิดความคิดเห็นคล้อยตามผู้เขียน
๐ ตั้งคำถามให้ผู้อ่านไปขบคิด
๐ สรุปด้วยคำคม สุภาษิต หรือบทร้อยกรอง
ข้อคิดทิ้งท้าย ก่อนพิชิตรางวัลการเขียนเรียงความ
1. อ่านหัวข้อที่กรรมการตั้งมาให้อย่างละเอียด แตกประเด็นให้ได้ว่าเขาต้องการให้เราเขียนอะไร วิเคราะห์ดูว่าเขียนอย่างไรจึงจะถูกใจกรรมการ แล้วเขียนโครงร่างเนื้อหาให้ชัดเจน เพื่อที่เวลาลงมือเขียนจริง จะได้ไม่หลงประเด็น
2. เขียนเรียงความตามจำนวนหน้าที่กำหนด ห้ามขาด ห้ามเกิน และต้องมีคำนำ เนื้อเรื่องและสรุป ครบถ้วนทั้งหมดในเรียงความ
3. บทสรุปคือหัวใจสำคัญที่จะชนะใจกรรมการหรือไม่ ต้องสรุปให้ตรงกับหัวข้อเรื่องและโดนใจที่สุด
4. ตรวจสอบคำสะกดถูกผิด ตัดคำเยิ่นเย้อ หรือประโยคที่วกวน เพื่อให้แน่ใจว่าเรียงความที่เขียนมามีเนื้อหาที่ตรงประเด็นกระชับได้ใจความ มีความน่าสนใจ และใช้ภาษาได้สละสลวยถูกต้อง
http://www.thaihow.com/1273
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น