วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

อิทธิพลของดนตรี

อิทธิพลของดนตรีกับบุคคลและสังคม



กวีไทยกล่าวถึงอิทธิพลของดนตรีกับบุคคลและสังคมไว้ในบทกวีหลายบท ซึ่งบทเด่นที่งดงามด้วยฉันทลักษณ์และมีเนื้อความกินใจคนไทยอย่างแพร่หลายมาเนิ่นนาน คือ บทกวีของสุนทรภู่ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตอนที่พระอภัยมณีอธิบายเรื่องอิทธิพลของดนตรีแก่สามพราหมณ์ที่พบกันโดยบังเอิญ ซึ่งในเนื้อกลอนกล่าวว่า

“...พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม จึงกล่าวความจะแจ้งแถลงไข
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดั่งจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช จัตุบาทกลางป่าพนาสินธุ์
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญา จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง...”


อิทธิพลของดนตรีกับบุคคล

ในวิถีชีวิตปัจจุบัน บุคคลไม่อาจหนีรอดจากอิทธิพลของเสียงดนตรีได้ ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ เสียงดนตรีก็จะแวดล้อมอยู่เกือบทุกเวลาและทุกสถานที่ ดนตรีถูกสร้างขึ้นมาใช้เป็นพื้นหลังสนับสนุนการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ดนตรีช่วยจุดประกายแสงสว่างให้แก่เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในชีวิตของบุคคล ทั้งในยามสุข และยามเศร้า รังสรรค์ให้บุคคลได้ถ่ายเทอารมณ์จากอารมณ์ตึงเครียดเป็นอารมณ์ผ่อนคลาย เสียงดนตรีสามารถเชิญชวนให้บุคคลลุกขึ้นเต้นรำ สามารถดลบันดาลให้บุคคลมีความภาคภูมิใจในความเป็นหมู่คณะและความเป็นชาติของตน ถ้าปราศจากเสียงดนตรีแล้วศิลปะการแสดงต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น